เซ้งกิจการ อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก น้ำตาเช็ดหัวเข่า (สิ่งที่ควรรู้ก่อนรับช่วงต่อ)
เซ้งกิจการ อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก น้ำตาเช็ดหัวเข่า
ก่อนที่จะไปรู้ถึง ขั้นตอนต่างๆ ในการดูว่า ประกาศ เซ้งกิจการ ที่มีกันอยู่มากมายนั้น ว่าดีไม่ดีอย่างไร “ประกาศไหนจริง ประกาศไหนหลอก” กิจการที่จะเซ้งต่อนั้น เป็นกิจการที่ยังสามารถทำเม็ดเงิน ให้กับเจ้าของกิจการอยู่ หรือไม่
เราควรมาทำความรู้จักกับคำว่า “เซ้งกิจการ” กันก่อน ว่ามันคืออะไร
เซ้งกิจการ คือ การเปลี่ยนเจ้าของธุรกิจ กล่าวแบบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนจากเจ้าของเดิมที่ทำกิจการอยู่แล้ว อันมีการเช่าพื้นที่ในการตั้งกิจการนั้นๆ ให้กรรมสิทธิ์มาเป็นของเจ้าของใหม่ โดยการเป็นชื่อใน “สัญญาเช่า” และ อาจมีข้อตกลงเรื่องของการขาย สิ่งของ วัตถุดิบ และความรู้ในการประกอบกิจการนั้นๆ มาด้วย
Advertisements
ในการ เซ้งกิจการ อาจมีหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้ทางเว็บ ทำเลขายของ.com ขอกล่าวเฉพาะในแบบ ที่มีสัญญาเช่าด้วยเท่านั้น และจะกล่าวในฝั่งของผู้ที่ จะไปเซ้งต่อกิจการ จากผู้ที่เขาจะขายกิจการ
ลักษณะกิจการ ที่มีการประกาศ เซ้งกิจการ มีหลายรูปแบบแต่เห็นบ่อยๆ มีดังนี้
-ร้านกาแฟ เป็นร้านที่เป็นช็อปใหญ่ หรือ เป็นร้านที่เป็นคีออส ก็มี
-ร้านเสื้อผ้า เป็นร้านที่เป็นล็อคในตลาดนัดแบบที่มีห้องเป็นสัดส่วน หรือ เป็นร้านในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ก็มีการประกาศกันเยอะ
-ร้านอาหาร มักล็อคในศูนย์อาหารเอกชนต่างๆ หรือ ร้านอาหารแบบที่มีพื้นที่กว้างๆ แบบที่แยกตัวออกมาเป็นอิสระ อาจมีที่ตั้งติดถนนใหญ่ หรือ ถนนซอย ที่ใกล้แหล่งชุมชนต่างๆ
-ร้านคาร์แคร์ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจการที่มีการประกาศ เซ้งกิจการ ต่อกันค่อนข้างเยอะเหมือน อาจเป็นร้านที่มีที่ตั้งอยู่ศูนย์การค้า หรือ ที่ตั้งติดถนนใหญ่ ถนนซอยทั่วไป
สาเหตุ ที่ต้อง เซ้งกิจการ
โดยส่วนใหญ่สาเหตุในการ เซ้งกิจการ นั้น อาจมีทั้งที่เป็นจริง และสาเหตุที่ Make ขึ้นมาเพื่อให้ปล่อยกิจการต่อให้ได้ สาเหตุที่ชอบลงให้เห็นปล่อยๆ ส่วนใหญ่ มีดังนี้
-ไม่มีเวลาดูแลกิจการ เพราะมีหลายกิจการที่ต้องดูแล
-ต้องไปเรียนต่างประเทศ และย้ายไปต่างประเทศ
-มีปัญหากับหุ้นส่วน เลยต้องเลิกกิจการ
แล้วจะรู้ได้อย่าไหร่ละว่า สาเหตุ ของแต่ละคนที่ว่ามา เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แล้วเราควรจะเซ้งกิจการต่อจากเขาดีไหม อะไรจะเป็นตัวกำหนดในการที่จะเซ้งต่อ งั้นก็คงต้องมาค้นหาความจริงกันต่อไปเลยครับ
สิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนที่จะตัดสินใจ เซ้งกิจการ
1. มีสัญญาเช่าหรือเปล่า
ในเรื่องของสัญญาเช่า เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกเลย หากถ้าไม่มีสัญญาเช่าจากผู้ให้เช่า ที่เป็นเจ้าของพื้นที่แล้วนั้น ทำสัญญาเช่ากันเอง แบบทำซ้อนกับสัญญาเดิมนั้น โดยทำกันแบบเช่าช่วงอีกที่ หากสัญญาเช่าหลักระบุว่า ห้ามเช่าช่วง หรือไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อผู้เช่า สัญญาที่เราไปทำนั้นก็เป็น “โมฆะ”
ควรมีสัญญาเช่า และต้องไปเปลี่ยนชื่อ “ผู้เช่า” ในสัญญาด้วย ที่สำคัญในการเปลี่ยนชื่อ “ผู้เช่า” อาจจะมีค่าเปลี่ยนด้วยอีกต่างหาก ควรเช็คดูด้วยว่ากี่บาท และใครจะเป็นผู้รับภาระตรงนี้ ผู้ที่จะให้เซ้งกิจการ หรือ ผู้ที่จะเซ้งต่อกิจการ ควรตกลงกันให้ชัดเจนไปเลย
ในกรณีที่ไม่สัญญาเช่า อันนี้ก็ต้องวัดดวงกันเอาเองล้วนๆ หากเจ้าของพื้นที่เช่าตรวจสอบเจอ หรือมีนโยบายอะไรใหม่ๆออกมา มีอันต้องกระเด็นออกจากพื้นที่อย่างแน่นอน ในกรณีที่ไม่สัญญาเช่า ไม่มีการเปลี่ยนชื่อผู้เช่า โดยส่วนใหญ่ จะบอกมีใบเสร็จค่าเช่า ใช้ตัวนี้แทนก็ได้ ถ้าตัดสินใจเซ้งในลักษณะนี้ ก็จงพึงสังวรณ์ไว้ได้เลยว่า มีโอกาสเสียเงินฟรีอยู่ทุกเวลา “น้ำตาจะเช็คหัวเข่า ตามหัวข้อเลยนะขอบอก”
2. สัญญาเช่า มีระยะเวลากี่ปี
ในการเซ้งกิจการ นั้นหากทำโดยการเปลี่ยนชื่อผู้เช่าในสัญญาแล้วนั้น สิ่งควรดู คือ เรื่องของระยะเวลาสัญญา ว่าทำกันกี่ปี อาจทำกันอยู่ที่ 1-3 ปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ และหมดสัญญาในวันที่เท่าไหร่ หากทำสัญญาไปแล้วจะเหลือระยะเวลาเช่ากี่เดือนกันหนอ… ทั้งนี้เวลาที่เหลืออยู่นั้นจะนำมารวมกับ ค่าเซ้งที่เราไปเซ้งเขามา เพื่อคิดออกมาเป็นค่าเช่า/เดือนนั่นเอง
ตัวอย่าง
“นาย.แอดเหมียว” (ทำเลขายของ.com) เซ้งกิจการ ต่อจาก “คุณ มดน้อย” ในราคา 100,000 บาท โดยมีสัญญาเช่า ที่เหลือระยะเวลาอีก 10 เดือน และสัญญานั้นระบุค่าเช่า ที่จะต้องจ่ายอยู่ที่ 5,000 บาท/เดือน
สรุปว่า มีต้นทุน ค่าเซ้ง ต่อเดือนเท่ากับ 100,000 บาท หารด้วย 10 เดือน ตกแล้วเดือนละ 10,000 บาท
ต้นทุนค่าเช่า ปกติที่ต้องจ่าย 5,000 บาท/เดือน
ดังนั้น “นาย.แอดเหมียว” จะมีต้นทุนค่าเช่ารวมอยู่ที่ 15,000 บาท/เดือน นั่นเอง
3. ค่าเปลี่ยนชื่อ ในสัญญาเช่า
สำหรับการเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่านั้น อาจต้องมีค่าเปลี่ยนชื่อ ในกรณีที่เขาอนุญาต ให้เปลี่ยนน่ะ ต้องตรวจสอบดูจากทางเจ้าของพื้นที่ที่ให้เช่าด้วย เลยว่ามีค่าเปลี่ยนเท่าไหร่ และดูว่า ข้อตกลงการเซ้งกิจการนี้ ใครจะเป็นผู้รับภาระ ในจุดตรงนี้ นั่นหมายถึงต้นทุนอีกส่วนหนึ่งของกิจการนี้ ที่เรากำลังจะไปเซ้งต่อจากเขาเลยน่ะครับ
4. สิ่งของต่างๆ ที่จะได้รับในการ เซ้งกิจการ
ในส่วนนี้อาจเป็นการเซ้งแบบที่รวมมูลค่าของสินค้าต่างๆ ภายในร้านไปด้วยเลยก็มีเหมือนกัน การเซ้งแบบที่มีสินค้าด้วยนั้น ควรคำนวนราคาของสินค้าที่จะได้ ควบคู่ไปกับสภาพของสินค้า อายุการใช้งาน และความจำเป็นที่จะใช้งานของสิ่งนั้นๆ หรือไม่ สินค้าบ้างอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเลย หรือ อาจไม่ได้เหมาะสมกับกิจการนั้นๆเลยก็ได้ แต่ก็อาจมีสินค้าที่จำเป็น และเหมาะสมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควร จดบันทึกออกมาเป็นรายการ แยกเป็นประเภท ราคาที่เป็นไปตามสภาพ อายุการใช้งานที่เหลือที่น่าพอจะใช้งานได้อยู่ เพื่อสรุปตัวเลขต้นทุน ของการเซ้งกิจการ
5. KNOWHOW (ความรู้ในการประกอบกิจการ)
ในการ “เซ้งกิจการ” บางกรณี อาจมีข้อตกลง ที่จะมีการสอนความรู้ต่างๆ ในการประกอบกิจการนั้นๆ ตรงนี้ต้องดูความจำเป็นว่า เป็นความรู้ที่หาได้ยากหรือไม่ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถหาได้ตามแหล่งความรู้ต่างๆ เลยหรือไม่ หากเป็นความรู้พื้นๆ ที่มีแหล่งให้สืบค้นข้อมูลความรู้อยู่โดยทั่วไป ก็อาจไม่จำเป็นต้องเสียเงินในส่วนนี้ ผู้ที่จะเซ้งกิจการต่อนั้น อาจต่อราคาลงได้อีกในส่วนนี้
6. การลงพื้นที่จริง
เรื่องการลงพื้นที่จริง สำรวจดูสภาพของกิจการนั้นๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นสุดๆ แต่ในการลงดูกิจการที่จะเซ้ง เราควรไปดูแบบโดยที่ไม่ให้เขารู้ตัว ก่อนที่จะนัดคุยกันจริงๆ กล่าวคือ ให้ไปในตอนที่เขากำลังขายของเลย ทั้งช่วงเวลาที่มีคนเยอะๆ และช่วงเวลาที่เงียบที่สุด ดูทุกบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ว่ามีการซื้อขายกันหรือไม่ อย่างไร ยอดขายมากน้อยแค่ไหน อาจต้องมีการจดบันทึกเป็นรายชั่วโมง เพื่อคาดการยอดขายที่แท้จริง เอาไว้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกที
สรุปแล้ว การจะ เซ้งกิจการ ต่อจากคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในด้านความรวดเร็วในการย่นระยะในการประกอบธุรกิจได้มาก และยังได้ทำเลที่ตั้งมาพร้อมกับกิจการนั้นด้วยเลย แถมด้วยฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่หากต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ให้รอบคอบ ควรตั้งข้อสังเกตุไว้มากๆ มีแผนสองไว้คอยรองรับ หากเกิดข้อผิดผลาดไปแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ต้องปรับปรุงกิจการไปในทิศทางไหน เอกสารต่างๆเป็นเรื่องสำคัญ
ควรพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การเซ้งกิจการก็เช่นกัน” ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด หากดูอย่างไม่ละเอียดถี่ถ้วนให้ดี ระวัง “น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า” แต่หากเช็คแล้วผ่านทุกข้อ ที่เราตรวจสอบแล้ว ก็มั่นใจไปได้อีกระดับหนึ่งเลยว่า จะได้กิจการที่ดี และจะทำเงินให้เราได้อย่างแน่นอน. รวมคลังความรู้ เจ๋งๆ คลิ๊กเลย..
เขียนโดย อาซาดะ ริวอิจิ
ลิขสิทธิ์โดย อาซาดะ ริวอิจิ
ทำเลขายของ.com
การเซ้งกิจการ ยังแบ่งย่อยไปตามชนิดของกิจการ ซึ่งในแต่ละกิจการก็มีข้อแตกต่างกันออกไป ในแต่ละลักษณะธุรกิจ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านคาร์แคร์ ร้านขนม ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งหากจะมองแยกให้ลึกลงไปถึงตัวธุรกิจด้วย ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง โอกาสความสำเร็จในประกอบธุรกิจก็ย่อมมีมากขึ้นด้วย
ดังนั้น เราจะมาดูกันต่อ ในการเซ้งกิจการ ของแต่ละชนิดกิจการ ให้เป็นเรื่องเฉพาะว่าควรดูอะไรบ้าง ดังนี้
Advertisements
เซ้งกิจการร้านกาแฟ
สิ่งควรพิจารณาของร้านกาแฟ ที่จะไปเซ้งต่อจากเขา ประกอบไปด้วย
ประเภทของร้านกาแฟ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ตามขนาดและรูปแบบ เช่น รัานกาฟขนาดเล็ก ร้านกาแฟขนาดกลาง ร้านกาแฟขนาดใหญ่
ร้านกาแฟขนาดเล็ก ก็เช่น ร้านกาแฟถุง ร้านกาแฟโบราณ ร้านกาแฟรถเข็น ร้านกาแฟรถสามล้อเคลื่อน กำลังการผลิตไม่มาก บุคลากรในการขับเคลื่อนกิจการไม่เยอะ 1 คน ก็สามารถ ขายได้แล้ว
ร้านกาแฟขนาดกลาง คือ ร้านกาแฟที่เป็นแบบคีออส ทีเป็นร้านตู้คอนเทนเนอร์บ้าง ร้านกาแฟตามปั๊มแก็ส ร้านกาแฟตามปั๊มน้ำมันบ้าง ขนาดพื้นที่ประมาณ 9 – 12 ตารางเมตร แรงงาน 3 – 6 คน
ร้านกาแฟขนาดใหญ่ เป็นร้านกาแฟที่เปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า ที่พื้นที่ใช้สอยเป็น shop ขนาดพื้นที่ประมาณ 30 – 60 ตารางเมตร อาจมีการขายสินค้าอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น อาหาร ขนม หรือ ของฝากทั่วไป
ทั้งนี้การดูประเภทของร้านกาแฟนั้น เป็นสิ่งที่ควรรู้และพิจารณาให้ขาด ให้ชัด เป็นด่านแรกในการประมาณราคาของธุรกิจนั้นๆ ความสามารถของธุรกิจนั้นๆ ว่ามีขีดการต่อสู้ ใตตลาดนั้นๆ แค่ไหน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจในตัวธุรกิจด้วย
-กระบวนการผลิต ของกาแฟ (พักเบรคก่อนน่ะครับ)
เขียนโดย อาซาดะ ริวอิจิ
ลิขสิทธิ์โดย อาซาดะ ริวอิจิ
ทำเลขายของ.com
สนใจเปิดเฟรนชาย อเมซอน แบบ standalone ติดถนน สุรินทร์-สังขะ ในตัว อ.ลำดวน จ.สุรินทร์
ห่างจากตัวเมือง 22 กิโล และมีพื้นที่ให้เช่าปั๊ม ปตท
เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ในแหล่งชุมชน ค่ะ