แฟรนไชส์คืออะไร รู้ก่อนเสียรู้
ระบบธุรกิจแฟรนไชส์
หลายคนยังคงสับสนระหว่างระบบขายส่งกับระบบธุรกิจแฟรนไชส์ บ้างก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ในช่วงหลังมานี้ มีหลายธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกตัวเองว่าแฟรนไชส์ แต่ระบบธุรกิจยังไม่ใช่แฟรนไชส์เต็มตัว ดังนั้นก่อนที่เราจะมองหาแฟรนไชส์ดีๆ ซักหนึ่งแฟรนไชส์ เรามารู้กันก่อนดีกว่า ว่าแฟรนไชส์นั้นคืออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปพิจารณาความน่าเชื่อถือ และความคุ้มของธุรกิจแฟรนไชส์ “ว่าเรากำลังเสียเงินไปเพื่ออะไรอยู่”
Advertisements
จากข้อมูลเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐอยู่ที่ร้อยละ 3-4 และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจ SME มีการขยายตัว เติบโตมากขึ้น ซึ่งแฟรนไชส์ก็เป็นธุรกิจหนึ่งในกลุ่ม SME ด้วยเช่นกันโดยแฟรนไชส์เป็นช่องทางในการทำธุรกิจเพื่อการต่อยอด เพิ่มจำนวน โดยผ่านผู้ที่สนใจซึ่งเรียกว่า แฟรนไชส์ซี โดยได้มีการซื้อสิทธิ เครื่องหมายทางการค้า โดยมีการถ่ายทอดความรู้ วิธีการทำธุรกิจ ระบบงาน และการทำธุรกิจที่มรมาตรฐานเดียวกันในทุกๆสาขาโดยผู้ขายแฟรนไชส์ที่เรียกว่า แฟรนไชส์เซอร์
ลักษณะสำคัญของระบบธุรกิจแฟรนไชส์
ลักษณะสำคัญที่บ่งชี้ความเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ประกอบด้วยสามอย่างหลักๆคือ
1. ต้องมีผู้ขายสิทธิ เพื่อที่จะส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ และสิทธิของธุรกิจไปยังผู้รับสิทธิด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิด
2. มีการชำระค่าธรรมเนียมแรกเริ่มที่ผู้รับสิทธิจำเป็นต้องจ่ายให้ผู้ให้สิทธิ เพื่อซื้อระบบการทำธุรกิจ แบรนด์ เครื่องหมายทางการค้า ผลิตภัณฑ์ในทั้งด้านของสินค้าและบริการ
3. มีการจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซนต์จากผู้รับสิทธิให้แก่ผู้ขายสิทธิ ตามที่ได้ตกลงกันไว้
แฟรนไชส์คืออะไร
คำว่าแฟรนไชส์เป็นคำที่รากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส ” Franchir ” แปลว่า ” สิทธิพิเศษ ” ซึ่งมีการใช้คำนี้มาเป็นระยะเวลานานจนคำได้มีการเพี้ยนไปเป็น Franchise ที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งแฟรนไชส์นั้นแปลว่าสิทธิพิเศษที่บริษัทแม่มอบให้แก่ผู้รับสิทธิซึ่งครอบคลุมถึงระบบการดำเนินการ สินค้าและบริการต่างๆ โดยที่ผู้รับสิทธิจะสามารถทำธุรกิจได้แม้ไม่มีประสบการณ์มาก่อน
แฟรนไชส์ซิ่ง (Franchising)
แฟรนไชส์ซิ่งคือวิธีการดำเนินธุรกิจที่ประกอบไปด้วยผู้ให้สิทธิหรือแฟรนไชส์เซอร์และผู้รับสิทธิหรือแฟรนไชส์ซี ที่แฟรนไชส์เซอร์จะทำการซื้อขายสิทธิกับแฟรนไชส์ซี สิทธินั้นอาจประกอบได้ด้วยลักษณะร้านค้า ผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการ รวมทั้งระบบการจัดการต่างๆด้วย เช่น แฟรนไชส์ซีซื้อแฟรนไชส์ร้านขายอาหารสุนัขกับแฟรนไชส์เซอร์ที่จะได้ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ วิธีการดูแลและดำเนินธุรกิจด้วย
แฟรนไชส์เซอร์ ( Franchisor)
แฟรนไชเซอร์หรือผู้ขายสิทธิ คือเจ้าของสิทธิ เป็นบุคคลที่เป็นเจ้าของธุรกิจเริ่มแรก ที่ได้ทำธุรกิจ ละคิดค้นธุรกิจของตนเองจนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักแล้ว มีภาพลักษณ์ของบริษัทที่ดี มีตำแหน่งการตลาดและส่วนแบ่งการตลาดแล้วและมีความต้องการในขายระบบการดำเนินธุรกิจ สิทธิด้านชื่อการค้าให้แก่ผู้อื่นที่สนใจ เพื่อให้ผู้ที่ขอซื้อแฟรนไชส์ได้ใช้สิทธิเพื่อจะดำเนินการภายใต้ชื่อสินค้านั้นๆ เช่นเจ้าของแฟรนไชส์ไอศกรีม ซึ่งเจ้าของธุรกิจได้มีการเปิดตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคสนใจ จนถึงขณะหนึ่งที่ร้านไอศครีมมีภาพลักษณ์ที่มั่นคง มีผู้บริโภคที่มีอัตราซื้อซ้ำที่มากพอ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่สามารถตอบสนองการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เจ้าของธุรกิจซึ่งเป็นแฟรนไชส์เซอร์ก็ได้ขายระบบการทำงานนั้นให้แก่ผู้อื่น
แฟรนไชส์ซี (Franchisee)
แฟรนไชส์ซี คือผู้รับสิทธิจากแฟรนไชส์เซอร์ เป็นผู้รับสิทธิในการดำเนินการธุรกิจ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนในชื่อและระบบการดำเนินการจากแฟรนไชส์เซอร์ตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งกันและกันในตอนแรก บางรายอาจมีการจ่ายส่วนแบ่งจากการขายให้แฟรนไชส์เซอร์ด้วย หรือเรียกง่ายๆ แฟรนไชส์ซีก็คือผู้ซื้อแฟรนไชส์นั่นเอง โดยแฟรนไชส์ซี จะต้องดำเนินธุรกิจตามระบบงาน วิธี ซึ่งใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเจ้าของสิทธิหรือแฟรนไชส์เซอร์ เช่น ผู้ซื้อแฟรนไชส์เชสเตอร์กริลล์คือแฟรนไชส์ซีต้อง จัดร้าน ใช้สินค้า ใช้เครื่องหมายการค้าภายใช้ชื่อสินค้าเดียวกันกับแฟรนไชส์เซอร์ และมีการจ่ายค่าเครื่องหมายการค้าและส่วนแบ่งยอดขายให้แฟรนไชส์เซอร์ด้วย
แฟรนไชส์ฟี ( Franchise fee)
แฟรนไชส์ฟีหรือค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่แน่นอนซึ่งแฟรนไชส์ซีได้ตกลงเพื่อจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนสำหรับสิทธิและการดำเนินการต่างๆให้แก่แฟรนไชส์เซอร์ เช่น ธุรกิจร้านดูแลและตกแต่งขนสัตว์แฟรนไชส์ซีหรือผู้ซื้อแฟนไชส์จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพื่อซื้อสิทธิในการดำเนินการร้านตกแต่งขนสัตว์เพื่อดำเนินการภายใต้เครื่องหมายการค้าและวิธีการดำเนินการของแฟรนไชส์เซอร์หรือเจ้าของธุรกิจผู้ขายสิทธินั่นเอง
รอยัลตี้ฟี (Royalty fee)
รอยัลตี้ฟีคือค่าตอบแทนที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายให้แฟรนไชส์เซอร์อย่างต่อเนื่อง อาจเก็บจากยอดขายเป็นเดือน เป็นปี หรือหักจากการสั่งสินค้าได้ เช่น เมื่อแฟรนไชส์ซีซื้อแฟรนไชส์จากแฟรนไชส์เซอร์ไปแล้ว ต้องมีการจ่ายค่าดำเนินการเช่น หัก 5% จากยอดขายในแต่ละเดือน หรือแต่ละปีแก่ผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์เซอร์ ในขณะที่บางธุรกิจเช่น แฟรนไชส์ร้านอาหารอาจเก็บจากการซื้ออุปกรณ์หรือวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้นก็ได้
แอดเวอร์ไทซิ่งฟี ( Advertising Fee)
แอดเวอร์ไทซิ่งฟีหรือค่าธรรมเนียมการโฆษณาที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องให้แก่แฟรนไชส์เซอร์ อาจเรียกเก็บเป็นรายเดือน หรือรายปี เพื่อนำไปใช้ในการโฆษณา ในส่วนนี้อาจเรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บก็ได้แล้วแต่ตกลง ซึ่งในหลายๆแฟรนไชส์ ผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์เซอร์ได้รวมค่าโฆษณานี้ไปใน รอยัลตี้ฟรีหรือค่าแฟรนไชส์ฟีเรียบร้อยแล้ว
แฟรนไชส์แพคเกจฟี ( Franchise Package Fee)
คือค่าดำเนินการพิเศษต่างๆที่แฟรนไชส์เซอร์จะจัดขึ้นเพื่อแฟรนไชส์ซี เช่น การฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งแฟรนไชส์ซีต้องจ่ายแก่แฟรนไชส์เซอร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่ายขณะทำสัญญาว่าจะมีหรือไม่
มาสเตอร์แฟรนไชส์ ( Master Franchise)
มาสเตอร์แฟรนไชส์คือผู้ที่ได้รับสิทธิจากผู้ขายแฟรนไชส์ให้ดำเนินการขยายสาขาแฟรนไชส์ไปในเขตพื้นที่ต่างๆ โดยมาสเตอร์แฟรนไชส์จะได้รับการถ่ายทอดข้อมูลที่มากกว่า มีอำนาจมากกว่าแฟรนไชส์ซีทั่วไป เช่น เจ้าของธุรกิจชานมไข่มุกแห่งหนึ่งขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ให้ร้านราชมไข่มุกในจังหวัดปทุมธานีเพื่อให้ร้านชานมไข่มุกที่รับสิทธินั้นไปขยายสาขาแฟรนไชส์ในเขตปทุมธานีเองเป็นต้น
Advertisements
สุดท้ายแล้ว จุดสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ดีๆ ซักตัว ก็คือการที่เราซื้อเวลา ซื้อสิทธิการใช้ตราสินค้าดังๆ ติดตลาด ซื้อระบบดำเนินการและธุรกิจสำเร็จรูปจากแฟรนไชส์เซอร์หรือผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อประโยชน์ด้านการอาศัยชื่อผลิตภัณฑ์ ตราผลิตภัณฑ์ ความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดของเจ้าของธุรกิจ มีการฝึกอบรม สินค้าที่มีคุณภาพเป็นมาตรฐาน มีการสนับสสนุนทางการเงินและการคุ้มครองด้านอนาเขตการขายเพื่อเป็นธุรกิจที่ลดความเสี่ยงจากการเริ่มทำธุรกิจด้วยตนเองนั่นเอง
เขียนโดย เซน ผู้เหลือรอดคนสุดท้าย
ลิขสิทธิ์โดย ทำเลขายของ.com
Leave a comment